Q: สงสัย ??? : เด็กแรกเกิดได้ยินและมองเห็นหรือ
A: ข้อเท็จจริง:
เด็กแรกเกิดมองเห็นและได้ยินตั้งแต่เกิดออกมา ที่จริงเริ่มมองเห็นและได้ยินตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยเฉพาะช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลการศึกษาด้วยการใช้ ultrasound แต่เราไม่รู้ว่าเด็กในท้องแม่ได้ยินหรือมองเห็นแค่ไหน สิ่งที่เรารู้อย่างแน่ชัดคือเด็กแรกเกิดมองเห็นค่อนข้างชัดในระยะใกล้ๆเท่า นั้น เหมือนคนสายตาสั้นมากๆ ซึ่งจะค่อยๆพัฒนาดีขึ้นจนมีสายตาปกติเมื่ออายุประมาณ 4 ปี ส่วนการได้ยิน เรารู้ว่าเด็กได้ยินเพราะตอบสนองต่อเสียงให้สังเกตเห็นได้ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในการควบคุมกล้ามเนื้อคอ หรือกล้ามเนื้ออื่นๆยังไม่ดี จึงไม่สามารถหันหาเสียงด้านซ้ายหรือขวาได้ชัดเจนจนกระทั่งเด็กมีอายุ 4-6 เดือน อย่างไรก็ตามเราไม่รู้ว่าเสียงที่เด็กทารกได้ยินมีความชัดเจนเพียงใด ในการศึกษาสังเกตพฤติกรรมเด็กทารกในต่างประเทศที่ผ่านๆมา พบว่าเด็กยังไม่สามารถฟังเสียงบางเสียงได้ชัด หรือแยกแยะเสียงต่างๆออกจากกันได้ชัดเจนนัก เด็กจะค่อยๆรับรู้ ฟังและแยกแยะเสียงได้ดีขึ้น จนเราสังเกตเห็นได้จากภาษาพูดของเด็กที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงอายุ 3-4 ปี
ดังนั้น เสียงที่เด็กได้ยินในช่วงที่เป็นทารกจึงมีความสำคัญในการพัฒนาทักษะการฟังอย่างยิ่ง ซึ่งมีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าทักษะการฟังและแยกแยะเสียงต่างๆได้ดี มีความสัมพันธ์ต่อความพร้อมในการอ่าน สะกดคำ ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรืออาจรวมถึงภาษาอื่นๆด้วย
Q: สงสัย ??? : เราควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อายุเท่าไร และควรอ่านอย่างไร
A: ความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยน:
ไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้โดยตรง แต่โดยทฤษฎีตามข้อเท็จจริงข้างต้น เราสามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟังได้ตั้งแต่เกิด อย่างไรก็ตาม เราควรอ่านให้เด็กฟังตั้งแต่ช่วงหลังเกิดหรือไม่ คงต้องพิจารณาหลายปัจจัย ได้แก่ 1. ช่วงเดือนแรกหลังคลอดของแม่ เป็นเดือนที่ทั้งครอบครัวต้องปรับตัวต่อการมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในครอบคร้วที่มีลูกคนแรก ครอบครัวจำนวนมากอาจไม่พร้อมที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ส่วนครอบครัวที่มีความพร้อม ก็ควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เนื่องจากในช่วง 3-4 เดือนแรกของชีวิต เด็กทารกเพิ่งเริ่มพัฒนาวงจรการนอน ให้มีช่วงเวลาการนอนและตื่นเป็นเวลา บางคนยังต้องปรับตัวเรื่องการกินด้วย 2. จากการที่เด็กแรกเกิดยังมีการมองเห็น การได้ยิน และประสาทสัมผัสอื่นๆจำกัด อาจแปลความได้ว่าธรรมชาติกำหนดให้เด็กทารกค่อยๆเกิดการเรียนรู้ โดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมากที่สุด ซึ่งหากพ่อแม่ใช้เวลาช่วงดังกล่าวอย่างเหมาะสม และเอื้อให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็กตามสมควร ก็น่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะเติบโตออกไปเผชิญกับโลกภายนอกได้อย่างมีความสุข
ดังนั้น พ่อแม่ทั้งหลายสามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับครอบครัวของตนเอง เพื่อเริ่มอ่านหนังสือนิทานให้เด็กทารกฟัง ควรเป็นหนังสือภาพที่มองเห็นชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมีตัวหนังสือมาก วางห่างจากสายตาเด็กประมาณ 12 นิ้ว อ่านให้สนุก ออกเสียงชัดเจน เลือกเรื่องใกล้ตัว และถ้าจะให้ดี ควรเป็นเรื่องที่แม่หรือพ่ออยากอ่าน เพื่อที่จะอ่านได้อย่างมีความสุข
รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์
|