![]() |
รพ.รามาฯ ส่งหนังสือเล่มแรก เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาเด็กปฐมวัย : โดย...ศิรินภา วิระศรี เช่นการอ่าน การฟัง การมีสมาธิ ซึ่งส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กเมื่อโตขึ้น ดังนั้นทางโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กเดย์แคร์ขึ้น เพื่อช่วยให้ความรู้และบริการด้านการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด ตลอดจนการช่วยดูแลเด็กปฐมวัยให้ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม โดยสวัสดิการของโรงพยาบาลนั้นจะมอบหนังสือสำหรับเด็กให้แก่คุณแม่ที่คลอดที่โรงพยาบาลรามาฯ จำนวน 3 เล่ม พร้อมทั้งเป็นสมาชิกของศูนย์เดย์แคร์ ซึ่งสามารถยืมหนังสือสำหรับเด็กกลับไปอ่านที่บ้านได้อย่างน้อยที่สุด 3 เล่ม ส่วนคุณแม่ที่ไม่ได้คลอดที่โรงพยาบาลก็สามารถเป็นสมาชิกของศูนย์เดย์แคร์ได้ โดยการสมัคได้ที่คูนย์เดย์แคร์ของทางโรงพยาบาล และสามารถยืมหนังสือได้เช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดที่โรงพยาบาล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กและเป็นการส่งเสริมสวัสดิการด้านการอ่านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภัทรีสุดา ณ ถลาง สมาชิกส่งเสริมการอ่านจังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน คุณแม่วัย 45 ปี เล่าถึงพัฒนาการของลูกให้ฟังว่า ช่วงที่ลูกยังพูดไม่ได้นั้นเขาจะตั้งใจฟังเวลาที่อ่านนิทานให้ฟังและตาของเขาก็จะมองที่ภาพการ์ตูน พอเริ่มพูดสนทนาได้ก็จะส่งเสียงและมีการหยิบจับหนังสือในส่วนที่เขาอยากได้หรือสนใจ จนถึงช่วงวัยของการพูดคุยสนทนาได้นั้นก็มีการพูดโต้ตอบเป็นเรื่องเป็นราว ร่าเริง กระตือรือร้น ช่างพูด มีสมาธิในการทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น การวาดภาพแล้วนำมาเล่าเป็นนิทานให้แม่ฟัง "พัฒนาการของลูกจะดีมาก ถ้าเปรียบกับเด็กช่วงวัยเดียวกัน เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จะฉลาด ร่าเริง ช่างพูด เวลาทำการบ้าน จะมีใจที่จดจ่อ มีสมาธิ แล้วก็กระตือรือร้น มีพัฒนาการที่ดี หนังสือที่ใช้ในการอ่านให้ลูกฟังก็จะเป็นประเภทหนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย ที่ขอยืมมาจากห้องสมุดประชาชน หรือบางทีก็ซื้อเองบ้างในส่วนที่สนใจอยากเก็บไว้ให้ลูกอ่าน เวลาที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังส่วนใหญ่ก็ก่อนนอน เวลาที่เล่นกับลูก" จากงานวิจัยของ Social for Research in Child Development แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กเยาวชน (สสย.) พบว่า การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีนั้น เมื่อเด็กเติบโตขึ้นและเข้าสู่ขั้นตอนของการเรียน เด็กจะสามารถเข้าใจภาษา คำศัพท์ และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง และผลการเรียนของเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวแต่ขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นสนใจการอ่านหนังสือมากกว่า ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการอ่านหนังสือเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาของลูกน้อยนั้นมีหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านของการเลือกหนังสือที่เหมาะสม หนังสือที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยก็คือหนังสือภาพที่มีเนื้อหาไม่มากนัก หนังสือที่มีจังหวะจะโคน เช่น บทกลอนเสียงวรรณยุกต์ ด้านการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ก็คือการที่พ่อแม่เป็นผู้ชักชวนให้ลูกอ่านหรืออ่านให้ฟัง ที่พ่อแม่ต้องมีทักษะในการนำเสนอที่แปลกใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ลูกไม่เบื่อและเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของลูก ห้องนอนเป็นสถานที่ที่ง่ายที่สุดที่เด็กจะสนใจฟัง เพราะจะไม่มีสิ่งอื่นมารบกวน พ่อแม่สามารถใช้เวลาก่อนเข้านอนเพื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟังก็ได้
ที่มา คมชัดลึกออนไลน์ ลิ้งค์ http://www.komchadluek.net/detail/20131221/175232.html |